ช่วงนี้เรามีเพื่อนๆหลายคนที่กำลังตั้งครรภ์ ก็ได้มีการคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันบ้าง รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ท้องแรก
เรื่องหลักๆที่เราจะเตือนเลย คือเรื่องการรับประทานอาหาร เพราะหลายๆคนมักจะเชื่อว่าถ้าท้องแล้วจะต้อง “โด๊ป” เพื่อบำรุงลูกในท้อง บางคนก็คิดว่าแพ้ท้องแล้วจะกินอะไรก็ได้เพราะลูกในท้องอยากกิน ดังนั้นก็จัดกันเต็มที่เลย ……… ซึ่งที่จริงแล้วมัน “ไม่ใช่” อย่างที่เชื่อกันมานะเออ
เรื่องแรกเลย การกินตามใจปาก ……..ในขณะที่ตั้งครรภ์นั้น อาหารทุกอย่างที่แม่กินเข้าไปจะถูกส่งต่อไปถึงลูกผ่านทางรกและสายสะดือ โดยตรงไม่ต้องผ่านการย่อยหรือแยกใดๆ ถ้าแม่ตามใจปากกินทุกอย่างไม่เลือก ไม่ได้มองว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ ทุกสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะเป็นโทษแก่ทารกในครรภ์ได้ ของหมักดองต่างๆ ขนมหวาน และการกินเหล่านี้จะไปสร้างปัญหาให้กับแม่เมื่อคลอดแล้วด้วย คือน้ำหนักแม่ขึ้นเยอะเกินแล้วลดไม่ลง ถึงแม้ว่าเราจะทราบดีกันแล้วว่า ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงคลอด แม่ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 กิโลกรัม แต่ !!!! ต้องดูทุนน้ำหนักเดิมของแม่ด้วยว่ามีอยู่เท่าไหร่ โดยการคำนวณค่า BMI ของร่างกาย
วิธีการคำนวณค่า BMI คือ น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) 2
เช่น หนัก 50 กิโลกรัม สูง 160 เซนติเมตร ( = 1.6 เมตร) จะได้เท่ากับ 50 / 1.6 x 1.6 = 19.5
ดังนั้นค่า BMI จึงเท่ากับ 19.5
เมื่อได้ค่า BMI แล้วเราก็จะรู้ว่า น้ำหนักของเราควรจะขึ้นมาอยู่ที่เท่าไหร่ คร่าวๆดังนี้
ค่า BMI ต่ำกว่า 18 น้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มอยู่ที่ 12-18 กิโลกรัม
ค่า BMI 18-24 น้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มอยู่ที่ 11-16 กิโลกรัม
ค่า BMI 25-29 น้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มอยู่ที่ 7-11 กิโลกรัม
ค่า BMI 30 ขึ้นไป น้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มอยู่ที่ 5-9 กิโลกรัม
แต่เทคนิคสำหรับเราคือ เมื่อไปพบหมอทุกครั้ง เราจะถามเลยว่ารอบนี้ต้องการน้ำหนักขึ้น หรือลงอีกเท่าไหร่ จากนั้นก็ควบคุมให้ได้ตามนั้นเลย เนื่องจากว่าบางคนอาจจะมีแตกต่างย่อยลงไปอีก ซึ่งอาจจะต้องการน้ำหนักที่ต่างจากค่ากลางนี้ เลยใช้วิธีถามหมอเอาเลยจะคำตอบที่ดีที่สุด
หลักของการรับประทานอาหารขณะที่ตั้งครรภ์ คือรับประทานอาหารให้หลากหลายประเภท ให้ครบ 5 หมู่ ใน 1 วัน ถ้าครบ 5 หมู่ได้ในทุกมื้อยิ่งดี ไม่ควรรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆกัน เพราะว่าเราจะได้สารอาหารแค่แบบเดียว ยกตัวอย่างเช่น วันนี้กินปลา พรุ่งนี้อาจจะกินไก่ วันต่อไปอาจจะกินหมู ให้คละๆกันไป ยิ่งถ้าใครทานยาบำรุงต่างๆที่หมอให้มาไม่ได้ (บางคนอาเจียนเพราะแพ้ท้อง) ก็ต้องรับประทานอาหารให้หลากหลายยิ่งขึ้น
“รับประทานอาหารหลากหลายประเภท ไม่ใช่การรับประทานสิ่งหนึ่งสิ่งใดในปริมาณมากๆ “
เพราะหญิงตั้งครรภ์ต้องการพลังงานมากขึ้นจากเดิมเพียงวันละ 200-300 กิโลแคลอรี่เท่านั้น
เรียกได้ว่าเราควรรับประทานอาหารแบบเน้นคุณภาพมากว่าเน้นปริมาณนั่นเอง
อาหารที่หญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาดเลยคือ แอลกอฮอล์ และอาหารทุกประเภทที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (ในคนปกติก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรรับประทานอยู่แล้ว ยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ แอลกอฮอล์จะผ่านไปถึงทารกได้โดยตรง ซึ่งร่างกายของทารก ระบบการกำจัดสารพิษยังไม่ดีพอ และอาจจะมีผลกับการเจริญเติบโตในครรภ์ได้)
เมื่อเจ็บป่วย หรือไม่สบายใดๆ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ต้องไปพบแพทย์เท่านั้น และหากไม่ได้พบสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์ โดยตรง ต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่า กำลังตั้งครรภ์ เพราะยาบางประเภทมีผลกับทารกในครรภ์
ของหวานก็เป็นของอีกประเภทหนึ่ง ที่ต้องรับประมานแบบมีสติ (บางคนแพ้ท้องมาก สามารถจะรับประทานทุเรียนได้เป็นลูกๆ ) ถ้าแม่รับประทานของหวานมากเกินไปในขณะตั้งครรภ์ นอกจากจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ผิวแตกลาย และน้ำหนักเหลือค้างมากหลังคลอดแล้ว ยังจะทำให้เกิดโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ โรคความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ได้ เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว ก็จะเสี่ยงกับภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์พิการ และอื่นๆอีก ซึ่งล้วนแต่เป็นลบทั้งสิ้น นอกจากขนมหวานต่างๆแล้ว ผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน องุ่น เงาะ มังคุด ลำไย น้อยหน่า ก็มีน้ำตาลสูงเช่นกัน “การรับประทานแต่พอดีหมายถึง การรับประทานในอัตราปกติของคนทั่วไป” เช่นทุเรียน 1 ชิ้น (1 เมล็ด ) มังคุด 3ผล เงาะ 3-4 ผล ไม่ใช่ทานทุเรียนทุกวัน วันละ 1 ลูก อันนี้ถือว่ามากเกินไป
นอกจากนี้ การรับประทานสิ่งสังเคราะห์ต่างๆ หญิงมีครรภ์ควรจะหลีกเลี่ยงไปเลย หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เช่น วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ น้ำมันปลา น้ำมันตับปลา โปรตีนผง ควรนำบรรจุภัณฑ์ที่แสดงรายละเอียดของส่วนประกอบไปให้แพทย์ที่ฝากครรภ์ พิจารณาก่อนรับประทาน (ถ้าหากว่าอยากรับประทานจริงๆ )
อาหารประเภทโปรตีน ก็เป็นอีกประเภท ที่ต้องระมัดระวัง การรับประทานอาหารจำพวกนมวัว ถั่ว ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี มากเกินไปนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเกิดมาแล้วมีอาการแพ้ในอาหารเหล่านี้ได้ ที่เราเคยเชื่อกันว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้ว กินนมวัวเยอะๆนั้นดี บำรุง บางคนกินกันวันละเป็นลิตร เป็นความเชื่อที่ผิด พฤติกรรมนี้จะส่งผลให้ทารกเกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัวได้ในอนาคต หากจะรับประทานก็ทำได้เพียงแต่ให้ทานแค่วันละ 1 แก้ว สลับกันไป เช่นวันนี้กินนมวัว พรุ่งนี้กินนมถั่วเหลือง วันต่อไปงด
สรุปโดยหลักๆอีกครั้งคือ หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่ารับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆ หรือรับประทานในปริมาณที่มากๆ ให้รับประทานแบบหลากหลายชนิด ไม่โด๊ป เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และที่สำคัญควรจะดื่มน้ำให้มากๆ เพราะร่างกายต้องใช้น้ำส่วนหนึ่งในการสร้างน้ำคร่ำและเลือดให้กับทารก ทานน้ำบ่อยๆทุกๆครั้งที่หิวหรือรู้สึกว่าปากแห้ง ค่ะ