สิทธิที่เป็นของเรา คือการไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น

0

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่วันหยุดยาว  เราได้ไปเดินเลือกซื้อเสื้อผ้าเพื่อจะไปงานแต่งงานของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง  ที่จัดจะขึ้นที่โรงแรมหรูในกรุงเทพ  ก็เป็นธรรมดาของคนบ้านนอกอย่างเราที่ไม่เคยไปงานแบบนี้  การเลือกเสื้อผ้าให้ถูกกาลเทศะ และต้องดูดีด้วยมันเป็นโจทย์ที่ยากพอควร แถมงานนี้ยังต้องมีค่าใช้จ่ายพอประมาณด้วย

เราเลือกเสื้อผ้าหลายร้าน จนมาเจอร้านที่ถูกใจ ราคาถือว่าระดับกลางๆไม่แพงไม่ถูก (จากการหาข้อมูลเรื่องราคา คุณภาพ กาลเทศะ และ budgetที่เรามี )    แต่ร้านนี้อาจจะดูแปลกสักหน่อยในสายตาของคนทั่วไปคือห้ามลองเสื้อถ้าคุณไม่ซื้อ !!!!    ……

หลายๆคนคงเลือกที่จะเดินออกจากร้านไปเลยทันทีที่ได้ยินเจ้าของร้านพูดประโยคนี้แต่เรากลับรู้สึกว่าโชคดีมากที่ไม่เดินออกไป   เพราะเรื่องราวต่อๆมาที่เจ้าของร้านพูด ทำให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ว่า  จริงๆแล้วคำว่าสิทธิมันคืออะไรกันแน่

เจ้าของร้านบอกกับเราว่า เลือกแบบไปเลยตามสบาย เอาให้พอใจ   ระหว่างนั้นก็มีการแนะนำเสื้อผ้าหลายชุดว่าเราเข้ากับแบบไหน ชุดไหนมีจุดเด่นลูกเล่นยังไง  ซักถามถึงสถานที่จัดงาน รูปแบบงาน  เพื่อประกอบในการหาชุด สำหรับเรานี่คือการบริการที่ดีมาก  เพราะเราเองไม่เคยไปงานแบบนี้ ถึงจะหาข้อมูลมาบ้างแต่ก็ยังไม่มั่นใจ

ระหว่างนั้นเจ้าของร้านก็เล่าว่า ที่ไม่ให้ลูกค้าลองเสื้อ เพราะลูกค้าบางคนกินกล้วยทอดแล้วมือเปื้อน แต่ก็เอามือมาจับเสื้อผ้าเลยโดยที่ไม่เช็ด ทำให้ชุดเปื้อน ทางร้านจึงแจ้งให้รับผิดชอบ   แต่ลูกค้ากลับบอกว่าเค้าไม่ได้ทำอะไรเลย (ทั้งๆที่ร้านมีกล้องวงจรปิด จับภาพไว้ได้ )  บางครั้งลูกค้าใส่น้ำหอมมา เมื่อลองเสื้อก็จะทำให้กลิ่นติดอยู่ (ลูกค้าหลายคนไม่ชอบ เพราะเหมือนกับว่าเราไปใส่เสื้อผ้าของคนอื่นที่ใช้แล้ว)   ไม่นับคราบโรลออน คราบเหงื่อ กลิ่นเหงื่อ ต่างๆมากมาย     ซึ่งที่ร้านนี้เป็นร้านขายชุดราตรี  หากชุดเปื้อนก็ต้องไปส่งซักแห้ง ราคาไม่ใช่ถูกๆ  รวมถึงเสื้อผ้าชุดนั้นก็จะไม่ใช่ของใหม่ เหมือนกับเป็นของมีตำหนิไปแล้ว จะขายในราคาเดิมแล้วใครจะซื้อ (แล้วต้นทุนที่ร้านต้องแบกรับเพิ่มล่ะ  แน่นอนว่ามันเพิ่มขึ้น)    ถ้าร้านไม่ทำความสะอาดชุดแล้วปล่อยทิ้งไว้  ลูกค้าคนอื่นที่มาลองเสื้อ ก็คงไม่เลือกชุดเปื้อนๆนั้นเหมือนกัน สุดท้ายก็กลายเป็นว่าขายชุดนั้นไม่ออก    เจ้าของร้านไม่อยากมีปัญหากับลูกค้า จึงตัดปัญหาด้วยการแจ้งลูกค้าแต่แรกเลยว่า ลองไม่ได้ถ้ายังไม่ตัดสินใจซื้อชุดนั้น  แต่เจ้าของร้านก็เพิ่มในส่วนของการบริการ  ช่วยเราเลือกชุดเป็นอย่างดี  (ในข้อนี้เราโชคดีที่เจ้าของร้านเก่งมาก แค่มองด้วยตาก็รู้ว่า เราควรจะใส่ชุดแบบไหน ใส่แล้วสวยอย่างไร  ที่เมื่อเราได้ลองชุดแล้ว ก็เป็นอย่างที่พูดจริงๆ )

เมื่อเราตัดสินใจว่าเอาชุดนี้แน่ๆ  เจ้าของร้านจึงให้เราไปลองชุด  เพื่อทำการปรับแก้ในส่วนที่ไม่พอดีให้   เข้าของร้านการันตีเลยว่าถึงไม่ให้ลอง  แต่เราสามารถทำให้คุณได้ใส่ชุดสวยได้แน่นอน  ……    เจ้าของร้านตบท้ายมาอีกว่า ที่ทำแบบนี้ ก็เพราะอยากให้ลูกค้าได้ของดีจริงๆกลับไป

ชุดของเราต้องมีการปรับแก้  จึงต้องไปรับชุดอีกครั้งวันถัดไป    ซึ่งคราวนี้เราไปกับเพื่อน และต้องการไปซื้อชุดอื่นเพิ่มเติมอีก     ระหว่างที่เลือกเสื้อกัน  เพื่อนก็หยิบมา 2-3 ชุดแล้วส่งให้เรา แล้วบอกว่าไปลองใส่มา  จะได้ดูกันว่าใช้ได้หรือไม่   เราจึงหันไปมองแม่ค้าแล้วพูดว่า  ลองไม่ได้ใช่มั้ยคะ  (อันนี้คือรู้อยู่แล้วว่าลองไม่ได้ )  ส่วนตัวของเราเองนั้นในการซื้อเสื้อผ้าทุกครั้ง เราจะถามเจ้าของร้านก่อนเสมอว่า ลองใส่ชุดได้หรือไม่ เพื่อเป็นการขออนุญาตไปในตัวด้วย   ……..ในสถานการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับเพื่อนเราอย่างมากที่ทางร้านไม่ยอมให้ลองเสื้อ   จนถึงกับเดินออกจากร้านไปเลย

เมื่อมาคุยกันตอนหลัง เพื่อนบอกว่าทำไมไม่ซื้อร้านอื่น  ซื้อเสื้อผ้าออกงานมาทุกร้านจนจะตั้งร้านขายเองได้อยู่แล้ว   ไม่มีร้านไหนไม่ให้ลองเลย  เงินของเรา เราจะซื้อทำไมเราไม่มีสิทธิลองชุดก่อน ….. พูดแล้วพาลมองว่าเราโง่ไปซะอีก  ( และในความจริงที่เพื่อนไม่ได้เห็นอีกอย่างหนึ่งคือ ท้ายที่สุดเจ้าของร้านให้เราลองเสื้อได้  เพราะว่าเราเคารพในเงื่อนไขการขายของเค้า   แต่เราก็ยังลองเฉพาะชุดที่เราซื้อเท่านั้นอยู่ดี )

 

จากเรื่องนี้ …….เหตุและผล ของการไม่ให้ลองชุดนั้นแม่ค้าได้บอกเอาไว้หมดแล้ว  สิทธิของเราคือ เราสามารถเลือกชุดได้จนกว่าจะพอใจ  หากต้องการลองชุดจริงๆ ถ้าชุดเสียหายเราก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น

เรามีสิทธิที่จะเลือกซื้อ แต่เราไม่มีสิทธิที่จะไม่รับผิดชอบหากเราทำของเสียหาย  เพราะการที่เราไม่รับผิดชอบนั้น เท่ากับว่าเราได้ละเมิดสิทธิของคนอื่นเช่นกัน

 

ตราบใดที่เราไม่จ่ายเงิน ชุดๆนั้นก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของแม่ค้า ไม่ใช่ของเรา   เป็นเพราะลูกค้าคงอื่นเคยไปละเมิดสิทธิของแม่ค้ามาก่อน ทำให้แม่ค้าต้องออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองบ้าง    และเมื่อสิ่งนี้ยังไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา  เมื่อเราจะหยิบหรือจะทำอะไรก็ตาม  เราควรเอ่ยปากขออนุญาตหรือแจ้งให้แม่ค้าทราบก่อนที่เราจะทำ  เพราะนี่คือมารยาทที่ดี  เป็นการเคารพสินค้า เคารพผู้อื่น และเคารพตัวเองด้วย

 

เพิ่มเติมนิดนึงเรื่องการลองชุดค่ะ  ว่าทำไมหลายๆร้านเค้ายอมให้เราลองชุดได้ตามสบาย นั่นเป็นเพราะว่ามีการบวกค่าดูแลชุดลงไปในราคาสินค้าแล้ว  ดังนั้นถึงแม้ว่าลูกค้าจะทำเปื้อนก็ไม่เป็นไร ร้านสามารถส่งไปซักแห้งหรือส่งเคลมกับโรงงานที่ผลิตได้  ซึ่งแน่นอนว่าเราจะได้สินค้าในราคาที่สูงขึ้นมาอีกหน่อย รวมถึงตัวเราเองก็เป็นส่วนนึงในการจ่ายค่าดูแลชุดให้กับคนอื่นๆด้วย  (เพราะบวกในราคารวมไปแล้ว )     หรืออีกแบบหนึ่งเลยก็คือ ร้านไม่ได้ซักหรืออะไรกับชุดที่เปื้อน แต่เราในฐานะลูกค้าลำดับถัดมาก็ต้องยอมรับในเงื่อนไขนี้ให้ได้นั่นเองว่า ชุดอาจจะมีกลิ่น มีรอยเปื้อน  (ซึ่งคงไม่เป็นปัญหาอะไรถ้าเราไม่ได้ใช้ชุดด่วน  หรือมี budgetในการส่งซักแห้งอยู่แล้ว )

 

เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจว่า ในการรักษาสิทธิของเรา เราก็ควรระวังอย่าให้สิทธิของเรา ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นด้วยค่ะ  ^_^

 

 

 

 

Share.

About Author

fhon.nux@gmail.com'

Leave A Reply